การศึกษาและคุณธรรมนำพาชาติเจริญ

วันที่ : 2016-11-08
การศึกษาและคุณธรรมนำพาชาติเจริญ

รากฐานสังคมที่ดีเกิดขึ้นโดยการศึกษา



การศึกษาถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญระดับชาติเพราะมีส่วนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจของชาตินั้นขึ้นจากกลุ่มวิชาชีพที่ใช้เพียงแรงงานฝีมือสู่ระดับแรงงานที่เพิ่มการใช้สติปัญญามากขึ้นหลังจากนั้นนำสติปัญญาที่ได้รับเข้าพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเน้นย้ำความสำคัญในเรื่องการศึกษาว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความเจริญและความเสื่อมของสังคมหรือประเทศนั้นๆ ดั่งที่ท่านได้ทรงตรัสใน พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรเมื่อ 12 ธันวาคม ปี 2512 เป็นใจความว่า



“…งานด้านการศึกษา เป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น…”



พระบรมราโชวาทนี้ถูกสะท้อนออกมาดั่งตัวอย่างที่เห็นได้ในประเทศสิงคโปร์ที่อดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยเขามองว่ารากฐานของประเทศชาติที่ดีนั้นควรจะมาจากการศึกษานั่นคือประชาชนจะต้องมีความรู้ทางด้านวิชาการโดยทั่วกันก่อนจึงจะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับบน หากย้อนดูสถานะการศึกษาของชาวสิงคโปร์เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้วจะพบว่าประชากรวัยผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศนั้นได้รับการศึกษาแค่เพียง 3 ปี หรืออาจพูดได้ว่า ณ ช่วงเวลานั้นมีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เรียนจนจบชั้นประถมศึกษา อย่างไรก็ตาม 40 ปีถัดมา สิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกและกลายเป็นประเทศพัฒนา (a developed country) ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีที่มากสุดในเอเชีย ณ ช่วงเวลานั้น และจากตัวอย่างเดียวกันนี้ได้สอดคล้องกับอีกหนึ่งพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านได้ทรงตรัสไว้เพื่อเป็นพระราชทานแก่ครูใหญ่และนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิตเมื่อ 22 กรกฎาคม ปี 2520 เป็นใจความว่า



“…การศึกษาเป็นเรื่องอันสำคัญในการพัฒนา ความรู้ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรมของบุคคลเพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เมื่อบ้านเมืองประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศชาติก็ย่อมทำให้ได้โดยสะดวกราบรื่นได้ผลที่แน่นอน และรวดเร็ว…



ความรู้ด้านลึกประสมความรู้ด้านกว้าง



ขอบเขตการศึกษานั้นไม่ควรถูกจำกัดหรือตีกรอบไว้ด้วยสาขาที่เลือกเรียนเท่านั้น แต่ความรู้ต่างแขนงสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา และเราควรที่จะเป็นผู้ที่หมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ๆตลอดเวลาเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า ตัวอย่างที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดคือผู้ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน เมื่อช่วง 5 ปีก่อน บริษัทขุดเจาะน้ำมันเองก็ดี (Drilling Companies) หรือบริษัททุนที่เข้าไปลงทุนในกลุ่มบริษัทน้ำมันเองก็ดี (Holding Companies) ได้ดำเนินการจ้างวิศวกรทางปิโตรเลียมเป็นจำนวนมาก (Petroleum Engineers) เนื่องจากต้องการสำรวจหาแท่นที่สามารถขุดเจาะน้ำมันเพื่อส่งมอบปริมาณน้ำมันให้กับตลาดโลก เนื่องจาก ณ ตอนนั้นราคาน้ำมันต่อหนึ่งบาร์เรลไปแตะที่ 100 กว่าเหรียญสหรัฐ ซึ่งสร้างกำไรมหาศาลให้แก่บริษัทเหล่านี้ เมื่อน้ำมันสามารถทำกำไรได้งามก็ต้องขุดเจาะให้มากขึ้นเพื่อขายในปริมาณที่มากขึ้นนั่นเอง แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วบริษัทเหล่านี้ก็ต้องเจอกับภาวะที่เรียกได้ว่าอาจจะเป็นวิกฤติเนื่องจากซัพพลายน้ำมันล้นตลาดส่งผลให้ราคาร่วงลงมากว่าครึ่ง จากสถานการณ์นี้บังคับให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันต้องลดค่าใช้จ่ายลงโดยการตัดจำนวนวิศวกรลงเนื่องจากต้องการปรับลดการสำรวจพื้นที่ขุดเจาะลงตอบสนองต่อดีมานด์ความต้องการน้ำมันที่น้อยลงสวนทางกลับซัพพลายนั่นเอง



หากวิศวกรเหล่านั้นสามารถนำความรู้ด้านวิศวกรรมไปปรับใช้กับทางด้านคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) จะสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานที่กำลังบูมและจะบูมไปอีกนานนั่นคือตลาดทางด้านเทคโนโลยีซอฟแวร์คอมพิวเตอร์นั่นเองไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมหรือการเขียนแอพพลิเคชั่นต่างๆ จากแนวคิดเดียวกันนี้สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เตรียมพร้อมเป็นอย่างดีโดยมีการส่งเสริมให้ตลาดแรงงานของประเทศมีความสามารถที่ตอบโจทย์ดีมานด์ของตลาดโลกเป็นอย่างดี จากแรกเริ่มที่สิงคโปร์ถนัดเพียงอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอก็ถูกส่งเสริมและพัฒนาจนเชี่ยวชาญทางด้านงานประกอบอิเล็กทรอนิกส์หรือช่วงที่โลกเริ่มมีคอมพิวเตอร์ใช้ และลำดับถัดมาประชากรถูกพัฒนาสู่แรงงานฝีมือขั้นสูงที่โลกต้องการเป็นอย่างมากนั่นคือนวัตถกรรมทางการแพทย์หรือชีววิทยา (Biomedical Production) นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี (Technological Innovation) โดยทั้งสองความเชี่ยวชาญเฉพาะถูกพัฒนาผ่านระบบการศึกษา สวนทางกับตลาดแรงงานบ้านเราที่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่ในกลุ่มแรงงาน “อุตสาหกรรม” ไม่ใช่ “นวัตกรรม” ซึ่งอย่างหลังจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากประชากรไม่ได้รับการศึกษาในขั้นพื้นฐานแต่แรกเริ่ม หนึ่งในพระบรมราโชวาทสนับสนุนการขวนขวายพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลาถูกปรากฏในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 24 มกราคม ปี 2532 เป็นใจความว่า



“…ความรู้ที่ใช้ได้ผลนั้น ต้องเป็นความรู้ ที่ถูกต้อง แม่นยำ ชำนาญ นำมาใช้การได้ทันที และนอกจากความรู้ด้าน ลึกนั่นคือวิชาเฉพาะสาขาที่ศึกษามาโดยตรงแล้ว ความรู้ด้านกว้างคือวิชาการอื่นๆทั่วไป ย่อมเป็นปัจจัยประกอบส่งเสริมอีกส่วนหนึ่งด้วย…”



พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมากและเราควรจะนำความรู้ที่ได้รับนั้นถ่ายทอดสู่สังคมในวงกว้างรวมถึงนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาด้านต่างๆที่เป็นที่ต้องการของประเทศชาติ ทั้งนี้ความรู้ที่ได้จะต้องถูกนำไปใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย, กรอบคุณธรรม และหลักธรรมาภิบาล ที่สังคมนั้นยึดถือด้วยเช่นกัน


ประเภทบทความ  

บริษัท เซ็นทรัล โฮม พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด    บริษัท เซ็นทรัล โฮม แมเนจเม้นท์ จำกัด

335/24 มบ.พลัสพาร์คอเวนิว ถ.สนามบินน้ำ
ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

โทร : 0 2968 7199
แฟกซ์ : 0 2968 7188 #104
มือถือ : 086 546 9741 , 086 314 9169
Email : centralhome001@gmail.com

Copyright2016 Central Home Management Co., Ltd. All rights reserved.